
กระจกเกรียบแบบกระเปาะ บริเวณผ้าทิพย์พระพุทธอาสน์พระพุทธเทวปฏิมากร

พระมณฑปหอไตร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
พระมณฑปวัดพระศรีรัตนศาสดารามตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ บนฐานไพทีระหว่างพระศรีรัตนเจดีย์ และปราสาทพระเทพบิดรในตำแหน่งที่เป็นหอพระมณเฑียรธรรมเดิม พระมณฑปแห่งนี้เป็นหอพระไตรปิฎกซึ่งถือได้ว่ามีศักดิ์ที่สูงยิ่งและมีความสำคัญอย่างสูงที่สุดในกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดให้สังคายนาขึ้นเป็นพระไตรปิฎกสำหรับแผ่นดิน โปรดให้สร้างพระมณฑปขึ้นแทนหอมณเฑียรธรรมหรือหอไตรแห่งเดิมของวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งถูกเพลิงไหม้ในงานมหรสพสมโภชพระไตรปิฎกฉบับทองที่ทรงโปรดให้ทำสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม หรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์
.
หลักฐานอันสำคัญยิ่งซึ่งแสดงถึงที่มาของหอไตรรูปแบบพิเศษที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นพระมณฑป หรือปราสาทเครื่องยอดปรากฏจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่มีพระราชประสงค์จะยกฐานานุศักดิ์ของหอไตรให้สูงขึ้นกว่าเดิม โดยหลังจากที่เพลิงไหม้หอไตรหลังเก่าแล้วจึงโปรดให้สร้างใหม่เป็นพระมณฑปที่เป็นปราสาทเครื่องยอด ดังความในพระราชพงศาวดารว่า “จึงมีพระราชโองการตรัสว่าเทพยดาผู้บำรุงรักษาพระพุทธศาสนาเห็นว่าหอพระไตรปิฎกยังตํ่าอยู่ จึงบันดาลให้เพลิงไหม้แต่เฉพาะหอไตรมิให้ไหม้พระอุโบสถ ด้วยจะให้สร้างพระมณฑปขึ้นใหม่ไว้พระไตรปิฎก จึงมีพระราชดำรัสสั่งพระยายมราช (บุนนาค) ซึ่งเป็นพระยาอุไทยธรรมแต่ก่อนกับพระยาราชสงครามให้เป็นแม่กองทำพระมณฑป ให้ถมสระเดิมเสีย ขุดรากก่อพระมณฑปลงในที่นั้น ภายในมณฑปปูลาดด้วยแผ่นเงิน และตั้งตู้มณฑปประดับมุกเป็นที่ไว้คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับทอง” (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1, 2478)

พระมณฑปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม