
หอไตรวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ หลักฐานของหอไตรศิลปะอยุธยาในกรุงเทพมหานคร

ลายกำมะลอประดับฝาผนังหอไตรวัดสระเกศแบบอย่างของงานช่างต้นกรุงรัตนโกสินทร์
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่มีมาก่อนการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ปรากฏความกล่าวถึงเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสร้างพระนคร มีการขุดคลองมหานาคแล้วพระราชทานนามวัดเปลี่ยนใหม่ว่าวัดสระเกศ มีการทำพระอุโบสถใหม่ กล่าวกันว่าสิ่งที่รัชกาลที่ 1 โปรดฯ ให้สร้างขึ้นในครั้งนั้นมีหอไตรรวมอยู่ด้วย จากข้อมูลข้างต้นจึงสันนิษฐานว่าหอไตรวัดสระเกศเป็นงานช่างสมัยรัชกาลที่ 1 ที่สืบทอดแบบแผนมาจากศิลปะอยุธยา ซึ่งนับว่าเป็นหอไตรที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ประเด็นดังกล่าวจึงนำมาสู่การตรวจสอบรูปแบบศิลปะโดยเทียบเคียงกับหอไตรที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา คือหอไตรวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ดังนี้
ประการที่ 1 มีการวางผังที่หันหน้าไปในทิศทางเดียวกับพระอุโบสถซึ่งเป็นทิศทางหลักของวัด ลักษณะของผังพื้นมีรูปแบบที่เป็นแบบแผนเช่นเดียวกันอย่างชัดเจน คือเป็นอาคารขนาด 2 ห้องเสา แต่ละห้องเสาและที่ผนังสกัดด้านหลังมีหน้าต่างขนาดเล็ก โดยมีประตูทางเข้าที่ผนังสกัดด้านหน้า 1 ด้าน มีระเบียงโดยรอบ และมีการยกพื้นขึ้นสูงจากระดับระเบียงประมาณ 1 เมตร
ประการที่ 2 วัสดุและโครงสร้างเป็นสถาปัตยกรรมไทยประเพณีเครื่องไม้ชนิดเครื่องลำยอง ประกอบไปด้วยหลังคาทรงจั่วและหลังคากันสาดรอบ ยกพื้นอยู่บนเสาหรือฐานสูง และมีประวัติว่าเคยตั้งอยู่กลางสระน้ำรวมทั้งองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมทุกส่วนและงานประดับตกแต่งแสดงถึงอาคารซึ่งมีศักดิ์สูง
ประการที่ 3 ลายหน้าบันประดับด้วยเทพนม ลายช่อและลายก้านขดออกปลายลายเป็นกระหนก ซึ่งเป็นแบบแผนของลายหน้าบันที่นิยมมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย รูปแบบของลายหน้าบันดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงรูปแบบประเพณีนิยมที่สืบทอดแบบแผนมาจากสมัยอยุธยาตอนปลาย
อนึ่ง นอกจากแบบแผนของงานช่างในรัชกาลที่ 1 ที่สืบทอดมาจากศิลปะอยุธยาตอนปลายแล้ว ยังปรากฏหลักฐานของงานช่างที่สันนิษฐานว่าเป็นงานในสมัยรัชกาลที่ 3 ด้วย เนื่องจากมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยดังกล่าว เช่นมีการทำฐานเครื่องก่อด้านล่างแทนการใช้เสายกสูง มีการกั้นฝาระเบียงด้านนอก มีงานประดับตกแต่งผนังภายในด้วยลายกำมะลอที่แสดงถึงอิทธิพลจากงานประดับในศิลปะจีนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนั้น

ผังพื้นหอไตรวัดสระเกศ ขนาด 2 ห้องเสาประกอบด้วยระเบียงรอบ

ลายหน้าบัน รูปเทพนม ลายช่อและลายก้านขดออกปลายลายเป็นกระหนก แบบแผนของลายหน้าบันที่นิยมมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

ลายกำมะลอประดับผนังแสดงถึงอิทธิพลจากงานประดับในศิลปะจีน