เมื่อเดินเข้าไปในวัดมหายานจีนนิกายหลายวัดในกรุงเทพฯ จะสังเกตเห็นเทพเจ้าองค์หนึ่งแต่งกายในชุดนักรบแบบจีน พระพักตร์แสดงความเยาว์วัย พระหัตถ์ถือกระบอง เทพเจ้าองค์ดังกล่าวประทับยืนบนแนวแกนประธาน และหันพระพักตร์ต่างจากประติมากรรมองค์อื่นๆ คือ หันเข้าหาพระประธาน ประติมากรรมองค์นี้มีนามภาษาจีนว่า “เหวยถัว” คนไทยเรียกว่า “พระเวทโพธิสัตว์” และเชื่อกันว่า เทพเจ้าองค์นี้พัฒนามาจากพระสกันทกุมาร น่าสนใจว่า ประติมากรรมองค์นี้ทำไมถึงสัมพันธ์กับพระสกันทกุมาร และทำไมประติมากรรมองค์นี้จึงหันพระพักตร์ต่างจากประติมากรรมองค์อื่น
ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 9-10 มีการแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นภาษาจีนจำนวนมาก โดยมีการปริวรรตนามของพระโพธิสัตว์ และเทพเจ้าต่างๆ ในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้ มีการปริวรรตนามของพระสกันทกุมารเป็นภาษาจีนว่า “เหวยถัว” และต่อมาคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาที่ประพันธ์ขึ้นในจีนราวพุทธศตวรรษที่ 13 มีการกล่าวถึงเทพเจ้าองค์หนึ่งนามว่า “เหวยถัวเจียงจวิน” ซึ่งเป็นเทพคนละองค์กับ “เหวยถัว” (พระสกันทกุมาร)
เนื่องจากนามที่คลายกัน ทำให้ในเวลาต่อมาคนเกิดความสับสนและคิดว่าเป็นเทพองค์เดียวกัน เห็นได้จากคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่ประพันธ์ขึ้นในจีนราวพุทธศตวรรษที่ 17-18 ที่มีการกล่าวถึงพระสกันทกุมาร ก็ยังคงเรียกว่า “เหวยถัว” แต่นำลักษณะบางประการของ “เหวยถัวเจียงจวิน” มาเป็นส่วนหนึ่งของพระสกันทกุมารด้วย หนึ่งในนั้นคือ การหันพระพักตร์เข้าหาพระพุทธเจ้า ซึ่งคัมภีร์ที่กล่าวถึง “เหวยถัวเจียงจวิน” ระบุว่า พระองค์หันพระพักตร์เข้าหาพระพุทธเจ้าเพื่อรับคำบัญชา
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ประติมากรรมพระสกันทกุมาร หรือ “เหวยถัว” ภายในวัดจีนนิกายของกรุงเทพฯ หลายแห่งอยู่ในลักษณะหันพระพักตร์เข้าหาพระพุทธเจ้า เพื่อแสดงถึงการนอบน้อมและรอรับคำบัญชาจากพระพุทธเจ้าอยู่เสมอ

แผนผังวัดมังกรกมลาวาส หมายเลข 35 คือ “เหวยถัว” ซึ่งประดิษฐานอยู่ตรงข้าม และหันพระพักตร์เข้าหาพระพุทธรูปประธาน (หมายเลข 1) แผนผังโดย นายวิศวะ ชินโย