
การบูรณะอนุรักษ์ศิลปกรรมกระจกเกรียบประดับพุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี ในพระวิหารหลวงวัดสุทัศนเทพวราราม

รูปแบบงานศิลปกรรมประดับกระจกเกรียบในพระอารามหลวง สมัยรัชกาลที่ 3
การวิจัยนี้ได้ใช้แนวทางการศึกษาด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกมิติ โดยบูรณาการศิลปกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ดังเช่น การศึกษารูปแบบงานศิลปกรรมกระจกเกรียบประดับพระเขนย พระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนฯ เป็นการผูกลายดอกพุดตานในงานศิลปกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 แสดงให้เห็นถึงศิลปะอย่างพระราชนิยม ที่มีการประดับกระจกเกรียบในงานศิลปกรรมศิลปะอิทธิพลจีน แสดงผ่านการสร้างงานศิลปกรรมและแนวคิดการออกแบบงานช่างไทยในสมัยนั้น และเมื่อทราบรูปแบบทางศิลปกรรมของงานประดับกระจกเกรียบ รู้ยุคสมัยในการสร้างงานศิลปกรรมของช่างแล้ว จึงทำการประดิษฐ์กระจกเกรียบขึ้นมาใหม่โดยใช้องค์ประกอบทางเคมีเช่นเดียวกับกระจกเกรียบในงานศิลปกรรมนั้นนำมาใช้ทำการบูรณะจริง พบว่า สามารถทดแทนกระจกโบราณในงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นร่วมยุคสมัยเดียวกันได้ โดยมีรูปแบบ สี ใกล้เคียงหรือเหมือนเดิมทุกประการ สามารถตรวจสอบเปรียบเทียบจากการนำไปใช้ในงานบูรณะที่ใกล้เคียงกลมกลืนกับกระจกเกรียบโบราณของเดิม ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องทางด้านรูปแบบศิลปกรรม และด้านกรรมวิธีการอนุรักษ์ กล่าวคือ เป็นกระบวนการที่เริ่มต้นด้วยการศึกษารูปแบบ “ศิลปกรรม” แล้ววิเคราะห์ด้วย “วิทยาศาสตร์” สู่การบูรณะและอนุรักษ์ศิลปกรรมกระจกเกรียบของไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

การนำกระจกเกรียบที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่มาเปรียบเทียบกระจกเกรียบของเก่าที่ประดับลวดลายปูนปั้น พระเขนยพระพุทธไสยาสน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

การขยายผลนำกระจกเกรียบที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยใช้สูตรเคมีของกระจกเกรียบประดับลายปูนปั้นประดับพระเขนย พระพุทธไสยาสน์ มาเป็นแนวทางการบูรณะกระจกเกรียบงานศิลปกรรมร่วมยุคสมัยเดียวกัน เช่น กระจกเกรียบหอพระไตรปิฎก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม